ในบรรดาวิธีพักปลาทั้ง 4 ขั้นตอนข้างล่างนี้ ข้อ 1 และข้อ 4 เป็นข้อที่ไม่ควรจะข้ามมากที่สุดแต่ก็กลายเป็นข้อที่มัก “ถูกข้าม” มากที่สุดด้วยเหมือนกันเพราะเหตุผลง่ายๆของเราคือ “ใจร้อน” อยากเห็นปลาสวยๆเร็วๆ หลายๆท่านเลือกที่จะเสี่ยงเอาปลาลงตู้รวมก่อนแล้วค่อยตามไปใส่ยาในตู้นั้นทีหลัง อันนั้นก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมการ “บริโภคความเสี่ยง” ของแต่ละท่านนะครับ ^_^
- กักโรค - ขั้นตอนนี้เป็นการนำปลาที่ซื้อมาใหม่ๆมาแยกเลี้ยงในตู้ที่เตรียมไว้เฉพาะเพื่อสังเกตอาการว่าเค้ามีความเจ็บป่วยอะไรติดตัวมาด้วยหรือเปล่า โดยปกติขั้นตอนนี้ควรกินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์เพราะบางครั้งเมื่อมาถึงยังไม่มีการแสดงอาการของโรคเพราะยังอยู่ในระยะฟักตัว แต่พอมาอยู่ได้ซักพักถึงจะเริ่มเจ็บป่วยให้เห็น แต่กรณีนี้ไม่รวมถึงกรณีที่ปลาไม่ได้ป่วยแต่เป็น “พาหะ” คือมีโรคแอบแฝงในตัวเอง (แต่ตัวเองไม่ป่วยอาจจะเพราะมีภูมิหรือเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนั้นๆ) นะครับ
- กำจัด "ปรสิตภายนอก” - เป็นขั้นตอนในการใช้ด่างทับทิมหรือฟอร์มาลิน (ดูวิธีใช้ในกระทู้แยกต่างหากนะครับ) ในการแช่ปลาเป็นระยะสั้นๆเพื่อกำจัดปรสิตที่ติดอยู่ภายนอกตัวปลา เช่นโรคเปื่อย, gill fluke (ที่ทำให้ปลาหายใจหอบเหงือกบานข้างเดียว), หรืออาการที่มีเมือกขาวๆปกคลุมตัว จริงๆแล้วการใช้ด่างทับทิมหรือฟอร์มาลีนแช่ปลาเพียงครั้งเดียวก็มักจะเพียงพอแล้ว แต่หลายๆฟาร์มมักจะทำวันละ 1 ครั้งติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันเพื่อตัดวงจรชีวิตของตัวเชื้อ (เผื่อว่าวันที่แช่เชื้อบางส่วนยังเป็นไข่อยู่ พอสองสามวันให้หลังฟักออกมาก็โดนยาอีกพอดี) อย่างฟาร์มที่ผมรู้จักจะแช่ด่างทับทิมวันละ 1 ชั่วโมงแล้วถ่ายน้ำ ทำอย่างนี้ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ครับ
- กำจัด “ปรสิตภายใน” - ปรสิตภายในที่พูดถึงในกรณีของปลาปอมปาดัวร์มักหมายถึง พยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน และโปรโตซัว Hexamita (สาเหตุของโรคขี้ขาวและหัวเป็นรู) ซึ่งในบรรดาทั้ง 3 อาการนี้ พยาธิตัวกลมและตัวแบนมักพบได้น้อยมากในปอมปาดัวร์ หากต้องการถ่ายก็สามารถใช้ยาถ่ายพยาธิสำหรับปลาสวยงามทั่วไปได้แต่ไม่จำเป็นต้องทำบ่อย ปีละ 1-2 ครั้งก็น่าจะเพียงพอแล้ว ส่วนกรณีของ Hexamita ให้กำจัดโดยการใช้ยา Metronidasole แช่ติดต่อกันประมาณ 5 วัน (กรณีป้องกัน) หรือ 10 วัน (กรณีรักษา) เนื่องจาก Metronidasole มีผลกระทบต่อระบบภายในของปลา จึงควรทำเฉพาะเมื่อจำเป็น หากปลาที่เราซื้อมาถูกแช่ Metronidasole มาก่อนส่งมอบให้เราแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำอีก
- ทดสอบปลา - ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สุดท้ายหลังจากที่เราค่อนข้างแน่ใจว่าปลาใหม่เราน่าจะสุขภาพแข็งแรงได้มาตรฐานแล้ว เราจะทำสอบขั้นสุดท้ายโดยการเลือกปลาเก่าของเราที่แข็งแรงดีมา 1 ตัวแล้วนำไปเลี้ยงรวมกับปลาใหม่ในตู้พักเป็นเวลา 1 อาทิตย์ หากปลาใหม่ของเราสุขภาพแข็งแรงดีไม่เปลี่ยนก็แสดงว่าปลาใหม่เราปลอดโรคแล้ว พร้อมนำลงตู้หลักได้ครับ
No comments:
Post a Comment