เป็นคำถามที่น่าจะอยู่ในใจหลายๆคนมานานแต่ไม่กล้าถามออกมาดังๆด้วยเหตุผลต่างๆนานา อันนี้ก็ต้องขอชื่นชมน้องที่กล้าถามออกมาดังๆให้ทุกคนได้ฟังกันนะครับ
คำถามนี้จะว่าไปก็เหมือนถามว่าระหว่าง “โค๊ก” กับ “เป็บซี่” อะไรดีกว่ากัน
***ขออนุญาตแจ้งให้ทราบว่า เพื่อให้ข้อมูลการตอบนี้เที่ยงตรงและยุติธรรมต่อทั้งสองค่ายมากที่สุด ผมได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับตัวแทนนำเข้าปลาจากทั้งสองค่าย อธิบายสถานการณ์คำถามให้ฟัง และขอรับข้อมูลข้อดีของแต่ละคนอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งทั้งสองตัวแทนก็ให้ความกรุณาให้ข้อมูลอย่างเปิดเผยและน่ารักมากทีเดียวครับ***
<<<คำตอบสั้นๆ>>>
ตอบได้เลยว่า “ไม่มีใครดีไปกว่าใครอย่างเด็ดขาด เพราะทั้งสองต่างก็เป็นผู้ส่งออกปอมป่าระดับโลกด้วยกันทั้งคู่ครับ”
ปอมป่าเป็นผลิตผลที่มาจากธรรมชาติ ไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่สามารถปั๊มออกมาได้โดยสูตรลับของเจ้าใดเจ้าหนึ่ง เพราะฉะนั้นปัจจัยควบคุมคุณภาพอันดับหนึ่งคือธรรมชาติที่จะสร้างสรรค์เค้าขึ้นมา ตามด้วยดวงว่าปลาตัวไหนจะถูกจับและได้รับเลือกให้ออกมาสู่สายตาชาวโลก และสุดท้ายคือ “เรา” มีโอกาสได้เห็นปลาผู้เข้ารอบสุดท้ายเหล่านั้นหรือเปล่า
<<<ขยายความ>>>
เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ผมอยากให้เข้าใจกระบวนที่ “ผู้ส่งออกระดับโลก” เค้าพาน้องปอมป่าจากบ้านจากเรือนมาสู่สายตาชาวโลกสักนิดนึงครับ
1. รับซื้อปอมป่าจากชาวประมงพื้นเมืองที่เป็นลูกทีมของตนด้วยราคาที่เป็นธรรมเพื่อควบคุมคุณภาพและป้องกันไม่ให้ชาวประมงกระหน่ำจับปลาอย่างไม่ลืมหูลืมตา
2. ให้ความรู้และสนับสนุนให้ชาวประมงพื้นเมืองเลือกเก็บเฉพาะปลาที่มีคุณภาพและขนาดที่เหมาะสมเท่านั้น ปลาที่ไม่ถูกเลือกจะโดนปล่อยกลับสู่ธรรมชาติเพื่อการประมงที่ยั่งยืน
3. ปลาที่รับซื้อมาต้องผ่านกระบวนการกักโรค ปรับน้ำ ปรับอาหาร และฟื้นฟูสภาพร่างกายให้แข็งแรงก่อนส่งออก ผู้ส่งออกระดับโลกจะให้ความสำคัญกับกระบวนการนี้มากถึงมากที่สุด
4. เมื่อปลาอยู่ในสภาพพร้อมจำหน่าย ผู้ส่งออกก็จะทำการเสนอขายสินค้าให้กับตัวแทนในประเทศต่างๆ ปลาที่นำเสนอก็จะแบ่งเป็นขนาดและระดับคุณภาพที่แตกต่างกันไป
ผู้ส่งออกระดับโลกจะมีการควบคุมคุณภาพทั้งสี่ขั้นตอนนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ปลาที่มีคุณภาพสูงสุดในจำนวนที่เยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย
จากจุดนี้จะเห็นว่าปลาที่ได้รับเลือกจะมีตั้งแต่เกรดที่เยี่ยมยอดสุดๆ ขนาดใหญ่สุดๆ ไปจนถึงขนาดและเกรดที่ย่อมลงมา ไล่ไปจนถึงเกรดดีพอใช้ในขนาดและราคามิตรภาพ
สำหรับผู้ส่งออกระดับโลกแล้ว การเลือกปลาเกรดต่ำมาหลอกขายไม่ใช่ทางเลือกที่เค้าอยากทำหรอกครับ มันไม่คุ้มกับชื่อเสียงที่เค้าสั่งสมมา
<<<แสดงว่าไม่มีอะไรต่างกันเลยเหรอ???>>>
จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่จะไม่ต่างกันซะเลยทีเดียวครับ ในขณะที่ทั้งสองรายจับปลาส่วนใหญ่มากแหล่งเดียวกัน มาตรฐานการคัดเลือกใกล้เคียงกัน...
แต่ทั้งสองเจ้าก็มีแหล่ง “ซิกเนเจอร์” ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่บ้างเหมือนกัน
"เฮค" ค่อนข้างขึ้นชื่อเรื่องปลา Semi Royal, Royal Discus และ Green Discus หรือปอมเขียวซึ่งแต่ละปีมีเค้ามีแนวโน้มที่จะมีผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ออกมาอย่างสม่ำเสมอ
"ซาตาเร็ม" ก็มี Trombettas Red ที่ขึ้นชื่อเรื่องขนาดและสีสันที่แดงโดดเด่น เป็นตัวชูโรงในแต่ละปี
แต่ตัวอย่างข้างต้นก็เป็นแค่เพียงแนวโน้มครับ ไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าปีนี้จะมีปลาดังกล่าวออกมาหรือไม่
สำคัญที่สุด การที่ปลาเหล่านั้นจะตกมาถึงตลาดบ้านเราหรือเปล่าก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นความพร้อมของตลาด กำลังของคนซื้อ แนวทางการทำตลาดของผู้นำเข้า และที่สำคัญคือผู้นำเข้าของเราสามารถไปช่วงชิงปลาชั้นเทพเหล่านี้มาจากคู่แข่งอย่างจีนและญี่ปุ่นได้มากน้อยแค่ไหน
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ตัวแทนทั้งสองเจ้าเค้าฝากผมมาแจ้งเพื่อนๆว่า
“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือปลาตัวจริงๆที่อยู่ตรงหน้า อยากให้เราเข้าไปเลือกด้วยตาตัวเอง ถ้าคุณเห็นว่าสวย คุณชอบ ราคาเป็นที่พอใจ นั่นแหละสำคัญที่สุด”
ยี่ห้อเป็นแค่เครื่องหมายทางการค้าเท่านั้นล่ะครับ อย่าไปยึดติดกับมันมากจนเกินไป
No comments:
Post a Comment